top of page

เปลี่ยน “กำแพงวิชาการ” เป็น “กำแพงกันเงินไหลออก” ด้วย “กล้วยไข่กำแพงเพชร”

Writer's picture: เกื้อกูลLEsเกื้อกูลLEs

“…ปัจจุบันเราปลูกกล้วยไข่ 2 ปี สามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 3 ครั้ง จากเดิมเราได้ผลผลิตประมาณ 1.3 - 1.4 ตัน ตอนนี้ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 2 ตันกว่าๆ ในช่วงระยะเวลาเพียง 6-7 เดือน เราได้เอาแนวความคิดของอาจารย์ ผศ.ดร.วิษณุ บัวเทศ ภายใต้โครงการการยกระดับห่วงโซ่คุณค่ากล้วยไข่เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มาพัฒนาจนบริษัทต่างๆ ก็เริ่มเข้ามาสนใจในคุณภาพของผลผลิตของเรา…”

คุณนพพล  เทพประถม นักรวบรวมกล้วยไข่กำแพงเพชร

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกล้วยไข่ จังหวัดกำแพงเพชร


กำแพงวิชาการ

สิ่งแรกที่เราได้คือเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกร ที่ไม่ได้มองมุมว่าฉันถูก เราทำให้เขาแบ่งใจมายอมรับว่า เรื่องวิชาการไม่ได้ไกลตัวอย่างที่เคยคิด เพราะฉะนั้นช่วงกลางๆ ปีเลยทำให้เราทำงานง่ายขึ้น นำองค์ความรู้ต่างๆ ไปถ่ายทอดได้ง่ายขึ้น เกษตรกรที่นี่ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุแล้วก็มีความคิดเป็นของตนเอง พอเราเข้าไปพูดคุยเชิงวิชาการ กำแพงแรกคือจะไม่เชื่อเราก่อน เราจึงต้องทำแปลงทดลองให้เขาได้เห็น การปรับลดปริมาณปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม อย่างแปลงของผมและสมาชิกกลุ่มของเราได้นำองค์ความรู้ตรงนี้ ไปทดลองในแปลง


กำแพงลด ผลผลิตเพิ่ม

จากเดิมเราได้ผลผลิตประมาณ 1.3 - 1.4 ตัน ตอนนี้ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 2 ตันกว่าๆ ในช่วงระยะเวลาเพียง 6-7 เดือน ตอนนี้เลยกลายเป็นต้นแบบให้คนที่สนใจอยากจะเพิ่มผลผลิต เดิมผมเป็นศูนย์รับซื้อผลผลิตและมีลูกค้าประจำของเราอยู่แล้ว เราก็ได้เอาแนวความคิดของอาจารย์ ผศ.ดร.วิษณุ บัวเทศ ภายใต้โครงการการยกระดับห่วงโซ่คุณค่ากล้วยไข่เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มาพัฒนา ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่เป็นห้างร้านใหญ่ๆ ต่างก็ต้องการผลิตผลที่มีคุณภาพ เราก็เลยนำข้อมูลเหล่านี้ไปคุยกับเกษตรกร เราเลยมองว่าถ้าเรามารวมกลุ่มกันแล้วเราผลิตของส่งกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ โดยที่เรามีแหล่งผลิต แหล่งรวบรวม มีเครือข่ายที่ช่วยกันทำ มันจะดีกว่าไหม จะได้ราคากว่าไหม เลยมาจับเข่าคุยกันว่าเราต้องการเจาะกลุ่มลูกค้านี้ดู



ตอนแรกเราเข้าใจว่ามาตรฐานคือ GAP เกษตรอินทรีย์ แต่มาตรฐาน ไม่ใช่ GAP ไม่ใช่ อินทรีย์ อีกแล้ว มันเป็นมาตรฐานที่ลูกค้าต้องการต่างหาก เราทำได้ไหม มีความสม่ำเสมอไหม มีคุณภาพเหมือนกันทุกรอบตามที่ลูกค้าต้องการไหม

ลูกค้ากลุ่มนี้จะไม่สนมาตรฐานสากลใดๆ เลย มันทำให้เรารู้ว่ายังมีอีกกลุ่มตลาดหนึ่งที่มีความต้องการแบบนี้ แล้วเราก็อยากจะผลิตเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ พอเราได้ทำจริงจังเข้าก็บริษัทต่างๆ มองเห็นและเริ่มเข้ามา เนื่องจากเขารู้จักคุณภาพผลผลิตของเราบ้างแล้ว


สร้างความยั่งยืนด้วยกำแพงกันเงินไหลออก

กล้วยไข่ จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - กุมภาพันธ์ ช่วงเวลาหลังจากนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืชอื่นๆ เสริม เช่น อ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล มันสำปะหลัง ซึ่งก็จะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ช่วง มีนาคม – พฤษภาคม พืชสมุนไพรต่างๆ ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกเดือน ส่วนใหญ่คนที่ทำกล้วยไข่จะอยู่รอดได้และมีโอกาสใช้หนี้ แต่ถ้าทำอ้อย ทำมันสำปะหลังอย่างเดียว โอกาสใช้หนี้จะน้อย เพราะต้องลงทุนทุกปี อย่างกล้วยไข่ลงทุนแค่ปีแรก พอปีถัดไปถ้าบริหารจัดการดีๆ ทุนก็จะน้อยลง และถ้าทำให้มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ ราคาขายก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย อีกอย่างกล้วยไข่เมื่อปลูกแล้วเราก็จะตัดเคลือ จากนั้นก็จะปลูกต้นใหม่ เริ่มใหม่ แต่คราวนี้เราคิดว่ามันเป็นการเพิ่มทุน เราเลยตัดเคลือแต่ก็ยังเก็บหน่อเอาไว้ เพื่อให้เติบโตและเก็บผลผลิตต่อได้เนื่องในระยะเวลา 6-8 เดือนเราก็จะเก็บเกี่ยวได้อีกครั้งหนึ่ง เป็นการลดต้นทุนการปลูกได้อีกทาง ซึ่งในปัจจุบันเราปลูกกล้วยไข่ 2 ปี สามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 3 ครั้ง ในส่วนของการบำรุงให้เก็บเกี่ยวได้ถึง 3 ครั้ง ต้องอาศัยองค์ความรู้เรื่องการบำรุงดิน การเพิ่มธาตุอาหารต่างๆ ซึ่งในกลุ่มของเราก็ช่วยกันลงขันผลิตปุ๋ยใช้กันเองในกลุ่ม โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในพื้นที่เช่นมูลไก่ มูลวัว ฟางข้าว นำมาหมักแล้วก็อัดเป็นเม็ดกระจายใช้กันในกลุ่มเพื่อลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยจากภายนอกอีกด้วย



56 views0 comments

Comments


bottom of page