top of page
Writer's pictureเกื้อกูลLEs

การยกระดับผู้ประกอบการและกระบวนการผลิตพริกไทยตรัง

Updated: Oct 30

เกื้อกูลLKMs รศ. ดร. ชุตินุช สุจริต นักจัดการความรู้ในพื้นที่ (Local Knowledge Manager) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย


"...ถึงแม้ว่าพริกไทยตรังจะไม่ใช่วัตถุดิบหลักในจานอาหาร แต่เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ช่วยชูรสชาติของอาหารจานนั้นๆ ให้ดีขึ้น ฉะนั้นการที่นักวิจัยสนใจนำเชฟที่มีชื่อเสียงเข้ามาในกระบวนการงานวิจัย เพื่อต้องการให้เชฟเป็นสื่อกลาง ใช้พริกไทยตรังเป็นส่วนประกอบ บอกเล่าเรื่องราวผ่านเมนูอาหารที่เชฟรังสรรค์ออกมา จนทำให้พริกไทยตรังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง..."

จุดเริ่มต้นพริกไทยตรัง

พริกไทยตรังมีการเพาะปลูกมาตั้งแต่ตสมัยรัชกาลที่ 5 โดยอ้างอิงบันทึกจากสำนักหอจดหมายเหตุเเห่งชาติ จากนั้นพอเริ่มมียางพาราเข้ามาคนก็หันไปปลูกยางพารามากขึ้น ส่วนพริกไทยก็มีการปลูกที่ลดน้อยถอยลงไป ซึ่งปัจจุบันทางจังหวัดเองก็มีการส่งเสริมและผลักดันให้พริกไทยตรังกลับมาอีกครั้งโดยตั้งเป้าให้พริกไทยตรังกลายเป็น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) ตรงนี้เลยทำให้นักวิจัยเข้ามายกระดับผู้ประกอบการและกระบวนการผลิตพริกไทยตรัง


ในสมัยก่อนนิยมปลูกพริกไทยในบริเวณรอบรั้วบ้านโดยไม่ได้เป็นแปลงปลูกอย่างจริงจัง ปล่อยให้ขึ้นบนค้างต้นไม้ โดยการปลูกลักษณะนี้ยังมีให้พบเห็นในบางพื้นที่ซึ่งอาจจะเป็นต้นพันธุ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ในปัจจุบันการปลูกพริกไทยตรังยังเป็นเพียงอาชีพเสริมของเกษตรกรเท่านั้น โดยมีกลุ่มเกษตรกรคนรุ่นใหม่เริ่มมีความสนใจและนำเทคโนโลยีมาจัดการแปลงปลูก พัฒนามาตรฐานการปลูกให้เป็นเกษตรอินทรีย์สากล มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้พริกไทยตรังกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง


พัฒนาค้นหาอัตลักษณ์

ตอนนี้มีกลุ่มผู้ปลูกพริกไทยจากตำบลละมอ ที่จะมีอัตลักษณ์ของพริกไทยที่ชัดเจนมากทั้ง รสชาติ ความเผ็ดร้อน ความหอมฉุน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุในดินและน้ำต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดตรัง อีกทั้งยังคงใช้กระบวนการผลิตพริกไทยแบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยใช้วิธีการการนวดพริกไทยเพื่อดึงเอากลิ่นพริกไทยออกมา ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการพิเศษเหล่านี้ทำให้เป็นที่สนใจของเชฟทำอาหารที่ต้องการวัตถุดิบชั้นดี


ถึงแม้ว่าพริกไทยตรังจะไม่ใช่วัตถุดิบหลักในจานอาหาร แต่เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ช่วยชูรสชาติของอาหารจานนั้นๆ ให้ดีขึ้น ฉะนั้นการที่นักวิจัยสนใจนำเชฟที่มีชื่อเสียงเข้ามาในกระบวนการงานวิจัย เพื่อต้องการให้เชฟเป็นสื่อกลาง ใช้พริกไทยตรังเป็นส่วนประกอบ บอกเล่าเรื่องราวผ่านเมนูอาหารที่เชฟรังสรรค์ออกมา จนทำให้พริกไทยตรังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง


ผลิตอย่างปราณีตสู่สายตาโลก

สมมติฐานของเราคือเมื่อเชฟมีการใช้พริกไทยตรังอย่างกว้างขวาง นั่นหมายความว่ามีการสั่งซื้อตามมา โดยพริกไทยที่ผลิตอย่างปราณีต มีการคัดเมล็ด ควบคุมคุณภาพ จะมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับพริกไทยของประเทศเพื่อนบ้านที่มีชื่อเสียง หากมีผู้ประกอบการต้นแบบสามารถผลิตพริกไทยตรังคุณภาพนั้นได้จริง มีการใช้จริง และมีการสั่งซื้อจริง เมื่อเกษตรกรเห็นว่าการผลิตอย่างปราณีตสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าการผลิตแบบปกติ ก็จะเข้ามาสู่กระบวนการยกระดับผู้ประกอบการและกระบวนการผลิตพริกไทยตรังโดยใช้อัตลักษณ์ภูมิปัญญาสู่มาตรฐานการผลิตสินค้าระดับพรีเมียมของนักวิจัยต่อไป

11 views0 comments

Comments


bottom of page