การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
(Local Economic Development)
> Job Creation: สร้างโอกาสการทำงาน/งานใหม่ๆ ภายในท้องถิ่น
> Local supply chains: ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบ, สินค้าและบริการในพื้นที่ สร้างการหมุนเวียนเศษฐกิจภายในท้องถิ่น
> improve live standard: การยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับคนในท้องถิ่น
บทความงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
Opportunities and Problems in the Local Enterprise Growth Initiative
100
วิเคราะห์เชิงวิพากษ์เกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นของโครงการ Local Enterprise Growth Initiative (LEGI) ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมการฟื้นฟูพื้นที่ด้อยโอกาสในอังกฤษ ผ่านการสนับสนุนวิสาหกิจ และการจ้างงานท้องถิ่น ตัวโครงการมุ่งเน้นการส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการ, ช่วยดึงดูดนักลงทุน และพัฒนาทักษะในชุมชนที่ด้อยโอกาส นักวิจัยให้ความเห็นว่าโครงการ LEGI มีส่วนช่วยในการพัฒนาแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยปรับให้เหมาะสมกับบริบท และการเน้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น ธุรกิจ และองค์กรชุมชน บทความยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น อาทิ ประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, ความยากลำบากในการวัดผลกระทบระยะยาว และความเสี่ยงในการย้ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากพื้นที่อื่น และยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในพื้นที่ด้อยโอกาส
Strategies for regenerative business
99
แนวคิดเรื่อง “regenerative business” โดยนักวิจัยเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวมีความสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ นักวิจัยให้เหตุผลว่าแนวคิดดังกล่าวสามารถช่วยลดของด้อยของการทำธุรกิจแบบเดิมซึ่งมักมองข้ามระบบนิเวศวิทยาสังคมนำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางนิเวศวิทยา และความท้าทายทางสังคมได้ แนวคิดดังกล่าวเป็นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมกับระบบนิเวศวิทยาสังคมทั้ง “การฟื้นฟู-รักษา-เสริมสร้าง” โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักการสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ระบบที่ขึ้นกับระดับของความปรารถนา และแนวทางการจัดการการปรับเปลี่ยนเพื่อการฟื้นฟูแนวคิดนี้เป็นแนวคิดใหม่เพื่อสร้างพื้นฐานความยั่งยืนทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวไปไกลกว่าเดิม และช่วยลดความเสียหายต่อระบบนิเวศวิทยาสังคม
The role, organisation and contribution of community enterprise to urban regeneration policy in the UK
98
ศึกษาบทบาทขององค์กรวิสาหกิจชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นภายในชุมชนท้องถิ่น ในการมีส่วนร่วมในกลยุทธ์การฟื้นฟู, การพัฒนาชุมชน, การสร้างทุนทางสังคม และการส่งเสริมประชาสังคมในประเทศอังกฤษ และเวลส์ สหราชอาณาจักร พร้อมทั้งทำการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆร่วมด้วย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้นักวิจัยยังได้พยายามหาคำตอบของประเด็นคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดการองค์กรดังกล่าว ในมิติของขอบเขตการมีส่วนร่วมในกลยุทธ์การฟื้นฟูท้องถิ่น และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น, ความหลากหลายของผู้มีส่วนร่วม, ระดับของผลปะรโยชน์ที่ได้รับ โดยเฉพาะการได้มา และการจัดการสินทรัพย์
Business research for sustainable development: How does sustainable business model research reflect doughnut economics?
97
ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างต้นแบบ “ธุรกิจแบบยั่งยืน (SBM)” และทฤษฎี “เศรษฐศาสตร์โดนัท (DE)” เพื่อขยาย และบูรณาการองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาต้นแบบธุรกิจแบบยั่งยืนร่วมกับการนำหลักการของเศรษฐศาสตร์โดนัทไปใช้ในบริบทของธุรกิจ นักวิจัยเลือกใช้หลักการทั้ง 7 ของ DE ในการวิเคราะห์เพื่อสะท้อนต้นแบบธุรกิจจำนวน 23 ต้นแบบ เพื่อพัฒนากรอบแนวคิดโดยอิงพื้นฐานองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เชิง cognitive โดยแบ่งย่อยการศึกษาออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. การศึกษากรอบแนวคิดเพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจในทฤษฎีทั้งแนวคิด SBM และ DE 2. การศึกษาแนวทางเฉพาะในการศึกษาต้นแบบ SBM จำนวน 7 แบบ 3. ศึกษาศักยภาพในการสร้างแนวปฏิบัติเชิงนวัตกรรมของ SBM
Can Tourism Promote Inclusive Growth? Supply Chains, Ownership and Employment in Ha Long Bay, Vietnam
94
การท่องเที่ยวจะสามารถสร้างการเติบโตแบบมีส่วนร่วมได้ในระยะสั้น และกลางหรือไม่ ในการศึกษา นักวิจัยทำการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน, การเชื่อมโยง และการรั่วไหลทางเศรษฐกิจ, ความเป็นเจ้าของ, การจ้างงาน และค่าใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ กรณีศึกษาในอ่าวฮาลองของประเทศเวียดนาม โดยพบว่าแม้การท่องเที่ยวจะพัฒนาอย่างรวดเร็วในพื้นที่ และให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจบางส่วนแก่ชุมชนท้องถิ่น แต่ดูเหมือนว่าการพัฒนาดังกล่าวจะยังไม่สามารถนับว่าเกิดการเติบโตแบบมีส่วนร่วมได้ และดูเหมือนว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้อย่างไรก็ตามนักวิจัยได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับความท้าทาย และโอกาสในการส่งเสริมการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมผ่านการท่องเที่ยว โดยเน้นความสำคัญของการพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น, การกระจายผลประโยชน์ และความยั่งยืนในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน
Inclusive finance for inclusive growth and development
93
ศึกษาบทบาทของ inclusive finance ในการส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม นักวิจัยนำเสนอแนวคิดที่ว่าการเงินในรูปแบบดังกล่าวช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการเงิน, ความเท่าเทียมทางการเงินได้, การลดความยากจน และความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นของผลกระทบจากการเข้าถึงการบริการทางการเงินต่อความสามารถในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และปรับปรุงสวัสดิการ อาทิ การใช้ mobile banking, สินเชื่อรายย่อย และโครงการให้ความรู้ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม
Innovation for Inclusive Growth: Towards a Theoretical Framework and a Research Agenda
92
ศึกษาแนวคิดเรื่องนวัตกรรมแบบมีส่วนร่วม (Inclusive innovation) โดยให้นิยามว่า คือ นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาส ว่ามีผลต่อการจัดการกับความไม่เท่าเทียม และการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน, การนำไปใช้เชิงพาณิชย์ และการสร้างมูลค่าได้อย่างไร โดยนำเสนอมุมมองใหม่ที่เชื่อมโยงแนวคิดด้านนวัตกรรมเข้ากับเป้าหมายทางสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านการเสนอกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎี พร้อมทั้งมองว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านกลยุทธ์, การประกอบการ และการตลาด และเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวมีศักยภาพในการสร้างความเป็นอยู่ทางสังคม และเศรษฐกิจในชุมชนที่ดีขึ้นได้ และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการวิจัยนวัตกรรมทางสังคมเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม
Inclusive growth and inclusive development: a review and synthesis of Asian Development Bank literature
91
บทวิเคราะห์ และสังเคราะห์จากองค์ความรู้ และงานวิจัยต่างๆ ของทาง Asian Development Bank (ADB) โดยมุ่งเน้นในเรื่องที่เกี่ยวกับการเติบโต และการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม แม้ว่าจะยังไม่มีคำจำกัดความที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะให้ความหมายถึง "การเติบโตแบบองค์รวมอย่างเท่าเทียมกัน" ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ, สังคม และสถาบัน ทาง ADB เองได้แนะนำมาตรการต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรลุการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน, การสร้างความเท่าเทียมทางการเมือง, การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการสร้างโครงข่ายรองรับทางสังคม
Inclusive Growth in cities: a sympathetic critique
90
วิเคราะห์แนวคิด "การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม" (Inclusive Growth) ในบริบทของเมืองอย่างละเอียด แม้ว่าผู้เขียนจะยอมรับถึงความสำคัญของแนวคิดนี้ในการเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจกับการกระจายผลประโยชน์ แต่ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมยังคงเป็นแนวคิดที่คลุมเครือ มักถูกนิยามอย่างไม่ชัดเจน และนำไปใช้อย่างไม่สม่ำเสมอ บทความยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มากเกินไปในความสามารถของรัฐบาลท้องถิ่นในการกระตุ้นและกำหนดรูปแบบการเติบโต รวมถึงกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จก็ยังมีไม่มากพอ ผู้เขียนได้ให้ความเห็นว่าการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมเป็นการพัฒนาที่ดีกว่าการมุ่งเน้นเฉพาะการเติบโตเพียงอย่างเดียว และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วมจากรัฐบาล
Value chain approaches to assessing the impact of tourism on low-income households in developing countries
89
ศึกษาและประเมินศักยภาพของแนวคิดการท่องเที่ยวเพื่อลดความยากจน หรือ pro-poor tourism ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นรอบๆแหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ผ่านการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า เพื่อดูการไหลเวียนของรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไปสู่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ของแรงงานในธุรกิจที่พัก อย่างไรก็ตาม ยังมีการเน้นย้ำถึงความท้าทายในการเพิ่มประโยชน์เหล่านี้ให้สูงสุด และเสนอแนะกลยุทธ์ในการเพิ่มผลกระทบเชิงบวกของการพัฒนาการท่องเที่ยว บทความยังอภิปรายถึงข้อจำกัดของห่วงโซ่คุณค่า พร้อมทั้งเสนอแนะวิธีการที่ครอบคลุมมากขึ้นในการประเมินผล กระทบทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวต่อชุมชน
What is the impact of hotels on local economic development? Applying value chain analysis to individual businesses
88
ศึกษาผลกระทบของธุรกิจโรงแรมที่มีต่อระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยใช้การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจโรงแรมแต่ละแห่ง อาทิ การสำรวจว่าธุรกิจโรงแรมสามารถสร้างงาน, มีการจัดหาวัตถุดิบในท้องถิ่น, การดึงดูดนักท่องเที่ยว และมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจห่วงโซ่คุณค่าดังกล่าวอย่างชัดเจนว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และเกิดการกระจายสู่ท้องถิ่นได้อย่างไร นักวิจัยจึงได้แบ่งการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าโดยแยกย่อยไปตามกิจกรรมในการดำเนิงานในส่วนต่างๆของธุรกิจ พร้อมทั้งวัดผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรงแรม และระบุวิธีการเพิ่มการมีส่วนร่วมเชิงบวกต่อการพัฒนาท้องถิ่นให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ว่าโรงแรมสามารถเพิ่มการจ้างงาน, สร้างการสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น และส่งเสริมการพัฒนาทักษะได้อย่างไร
Local tourism value chain linkages as pro-poor tools for regional development in western Uganda
87
ศึกษาบทบาทของการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวท้องถิ่นในฐานะเครื่องมือสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคและการลดความยากจนในภาคตะวันตกของยูกันดา โดยให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและความร่วมมือระหว่างชุมชน และธุรกิจท่องเที่ยว ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าลูกค้าในกลุ่มธุรกิจมีแนวโน้มที่จะรับสินค้าจากซัพพลายเออร์/คนกลาง มากกว่าผู้ผลิตท้องถิ่น เนื่องด้วยปัญหาด้านคุณภาพของสินค้าท้องถิ่นที่ไม่ได้มาตรฐาน และขาดความสม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และลดโอกาสทางการตลาด การศึกษานี้ยังเน้นย้ำถึงความท้าทายในการเชื่อมโยงระดับท้องถิ่นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ และเสนอแนะว่าควรปรับปรุงความสม่ำเสมอและคุณภาพของสินค้าท้องถิ่น ซึ่งอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาภูมิภาคผ่านความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งขึ้นระหว่างธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ผลิตท้องถิ่น